แสดงรายละเอียดข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว


จำนวนการเข้าดูข้อมูล : 447  ครั้ง
รหัสแหล่งท่องเที่ยว :0000000225
ชื่อแหล่งท่องเที่ยว : วัดขุนก้อง
ประวัติ : วัดขุนก้องเป็นวัดราษฎร์เก่าแก่วัดหนึ่งในอำเภอนางรอง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2150 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2260 ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มระหว่างทุ่งนากับหมู่บ้าน ห่างจากตัวอำเภอไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร อยู่ในเขตเทศบาลเมืองนางรอง อาณาเขตติดต่อ ด้านหน้าทิศเหนือจดทุ่งนา และลำนางรอง ทิศใต้จดทางหลวงสายโชคชัย-เดชอุดม ทิศตะวันตกจดถนนสรรพกิจโกศล และหมู่บ้านนางรอง ทิศตะวันออกจดลำนางรอง มีเนื้อที่ 25 ไร่ 2 งาน 82 ตารางวา สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดย “ขุนกอง” ซึ่งเป็นนายทหารผู้ควบคุมเสบียงตอนที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ขณะที่ยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์ ได้ยกกองทัพไปปราบเขมร ได้มาตั้งทัพพักอยู่ในเมืองนางรองเป็นผู้สร้างขึ้นและเรียกว่า “วัดขุนกอง” เมื่อกาลเวลาล่วงมานานเข้าชื่อเรียกวัดก็เพี้ยนมาเป็น “วัดขุนก้อง” มาจนถึงบัดนี้ นอกจากนี้วัดขุนก้องยังเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ของจังหวัดบุรีรัมย์แห่งหนึ่ง กล่าวคือ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้โปรดให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าพระยาจักรียกทัพมาปราบพระยานางรอง เจ้าโอ เจ้าอินและอุปฮาดเมืองจำปาศักดิ์ และได้จับพระยานางรองไปประหารบริเวณวัดขุนก้องปัจจุบันนี้ วัดนี้สร้างมาก่อนพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ.121 ประกาศใช้มีอายุยาวนานถึงปัจจุบันเป็นเวลา 405 ปี
ละติจูด : -
ลองติจูด : -
รายละเอียด : เป็นอุโบสถกึ่งทึบพื้นบ้านชั้นเดียว  ตั้งอยู่ภายในลายประทักษิณ ซึ่งอุโบสถมีขนาด 5 ห้อง  ขนาดกว้างประมาณ 9.85  เมตร  (3 ช่วงเสา)  ยาวประมาณ  12.20 เมตร  (5 ช่วงเสา)  โครงสร้างอาคารเป็นไม้เนื้อแข็ง เสาแปดเหลี่ยม จำนวน 24 ต้น ผนังอาคารใช้การก่ออิฐดินดิบมีลักษณะเอนออกจากฐาน  ความสูงของผนังไม่สูงจดใต้คาน  (สูงประมาณ  1.85  เมตร)  ทำให้เกิดช่องว่างเพื่อการระบายอากาศโดยรอบตัวอาคารมีฐานเขียงยกสูงไม่มาก  มีบันไดทางขึ้น 1 ขั้น   แต่ปัจจุบันปูนฉาบส่วนฐานชำรุดให้เห็นผนังอิฐโดยรอบ  หลังคาทรงจั่วสองซ้อน  มีมุขประเจิดยื่นหน้าและหลังคลุมหลังคากันสาดยื่นคลุมทั้งสี่ด้าน  ปัจจุบันมุงแป้นเกล็ดไม้สัก  ส่วนประดับหลังคาไม่ตกแต่งด้วยช่อฟ้า ใบระกา ลำยอง หรือหางหงส์  แต่ตกแต่งไม้ฉลุที่บริเวณสันหลังคา  และมุมชายของแป้นลม   สภาพอาคารในปัจจุบันจากการบูรณะเมื่อปี  พ.ศ. 2543  ทำให้สภาพอาคารโดยรวมอยู่ในสภาพดี  ส่วนผนังภายนอกโดยเฉพาะบริเวณเอวขันที่ยังมีการชำรุดของปูนฉาบอยู่  เป็นเจตนาของการบูรณะครั้งที่ 2  ที่มิต้องการปกปิดส่วนชำรุดของอาคาร
ตำบล : นางรอง
อำเภอ : นางรอง
จังหวัด : บุรีรัมย์
วันที่ปรับปรุงข้อมูล : 2018-10-06 14:29:17